หนังสือ ebook “คัมภีร์ LibreOffice Writer 3.6”

LibreOffice เป็นชุดซอฟต์แวร์สำหรับงานออฟฟิศ ประเภทเดียวกับ MS Office  (Writer เป็นโปรแกรมประเภทเดียวกับ Word) แต่ LibreOffice เป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรี ถูกกฎหมาย 100% คำพูดติดปาก “ของฟรี ไม่มีในโลก” ไม่จริงอีกแล้ว

ถึงแม้ LibreOffice จะเป็นของฟรี แต่ศักยภาพของ LibreOffice นั้นไม่ธรรมดา จากประสบการณ์การใช้งานกว่า10 ปี(ตั้งแต่ยังเป็น OpenOffice.org)และจากการเป็นวิทยากรอบรม LibreOffice นั้นตอบสนองต่องานประจำภายในออฟฟิศได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นงานพิมพ์เอกสารทั่วไป, งานพิมพ์หนังสือเป็นร้อยๆหน้า, งานพิมพ์หนังสือ e-book สวยๆ, งานสร้างตารางคำนวณต่างๆ, งานวิเคราะห์ข้อมูล, งานพรีเซ้นเทชั่น หรืองานสร้างผังต่างๆ เป็นต้น

หากท่านเป็นคนหนึ่ง หรือเป็นองค์กรหนึ่ง ที่ต้องการประหยัดค่าใช่จ่ายด้านซอฟต์แวร์ LibreOffice คืออีกหนึ่งคำตอบ เมื่อใครก็ตาม ถามผู้เขียนว่า “หากจะเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่เป็นของฟรี ถูกกฎหมาย ควรจะเริ่มต้นที่ตัวไหน” ผู้เขียนมักจะแนะนำที่ LibreOffice ก่อนเสมอ เพราะเป็นซอฟต์แวร์ที่ใกล้ตัว ใช้งานทุกวัน ประสิทธิภาพสูง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก นอกจากนี้ LibreOffice ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสร้างทัศนคติดีๆเพื่อก้าวไปสู่การใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สตัวอื่นๆต่อไป

คลิ๊กที่นี่เพื่อเข้าสู่หน้าดาวน์โหลด

คลิ๊กที่นี่เพื่อเข้าสู่หน้าดาวน์โหลด

เมื่อกล่าวถึงซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ซึ่งหลายท่านยังไม่รู้จัก จึงมักมีคำถามกลับมาว่า “ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สคืออะไร?” ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เป็นซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์เหมือนกัน แต่เงื่อนไขของลิขสิทธิ์นั้นหลายคนรู้แล้วต้องตกใจ “มีลิขสิทธิ์แบบนี้ด้วยหรือ!”

ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ที่เปิดเผยซอร์สโค้ด(รหัสในการสร้างโปรแกรม) ตัวซอฟต์แวร์และซอร์สโค้ดอนุญาตให้นําไปใช้ ทําสําเนา แจกจ่าย และแก้ไขปรับปรุงได้ โดยจะนำไปพัฒนาต่อเพื่อขายหรือแจกฟรีก็ได้ แต่ประเด็นสําคัญก็คือ ต้องเปิดเผยซอร์สโค้ดที่ถือเป็นหัวใจสําคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนั้นๆ ซอฟต์แวร์ตัวนั้นจึงจะถูกเรียกว่าซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ด้วยเหตุที่ต้องเปิดเผยซอร์สโค้ดนี้เอง จึงเป็นจุดแข็ง เพราะซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สจะไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ คนเก่าไปคนใหม่มา ก็สามารถนำซอร์สโค้ดไปพัฒนาต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง

ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สส่วนใหญ่เป็นของฟรี ตัวที่ใช้งานกันอย่างกว้างขวางที่เป็นของฟรี ก็เช่น Ubuntu เทียบเท่า MS Windows, LibreOffice เทียบเท่า MS Office, Inkscape เทียบเท่า Adobe Illustrator หรือ Corel Draw, Gimp เทียบเท่า Adobe PhotoShop หรือ Corel PhotoPaint, Blender เทียบเท่า Maya หรือ 3D Studio Max เป็นต้น

“เขาแจกฟรีแล้วได้อะไร? เขาอยู่ได้อย่างไรกับการแจกฟรี?”  นี่เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ผู้เขียนถูกถามบ่อยๆ คำตอบนั้นง่ายมาก คนไทยน่าจะเข้าใจคำตอบดีอยู่แล้ว ก็เขาพอใจเท่านี้ พอใจที่จะทำเพื่อสังคมเพื่อชาวโลก ไม่ต้องร่ำรวยมหาศาล เป็นความพอเพียงในเวอร์ชั่นของซอฟต์แวร์

องค์กรผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส มีรายได้จากเงินบริจาคบ้าง รายได้จากการขายสื่อการสอนหรือของชำร่วยบ้าง บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายใหญ่ก็สนับสนุน รัฐบาลของหลายๆประเทศก็ให้การสนับสนุน ประเทศอย่างรัสเซียถึงกับประกาศว่า องค์กรของรัฐจะเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สทั้งหมด ฉะนั้น รับรองเขาอยู่ได้

ให้ทุกท่านลองนึกตามดู หากองค์กรผู้พัฒนาLibreOffice (The Document Foundation) ออกมาประกาศสั้นๆว่า “ไม่มีเงิน” หรือ “จะหยุดพัฒนา” รับรองทั้งโลกได้สะเทือน เพราะผู้คนบนโลกใช้ LibreOfficeไม่น้อยเลยทีเดียว

“ทําไมเราต้องให้ความสนใจ หรือ ต้องหันมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ?”  ประเด็นสําคัญก็คือ เพราะราคาซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ มีราคาสูงถึงสูงมาก ผู้คนจํานวนมากจึงหันไปใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ซื้อแผ่นก๊อป ดาวน์โหลดของผิดกฎหมายมาใช้ หรือก็คือ เลือกที่จะใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธ์

ผิดกฎหมาย! นั่นคือสิ่งที่ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์กระทำอยู่ เพียงแต่ยังไม่ถูกจับเท่านั้น

แท้จริงแล้ว องค์กรใดหรือใครก็ตาม ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ท่านเพียงรอวันถูกพิพากษา เสรีภาพของท่านอยู่ในความเสี่ยง หากท่านยังเป็นองค์กรเล็ก ท่านก็เป็นเพียงปลาเล็กปลาน้อย แต่วันใดท่านเติบโตเป็นปลาใหญ่ ท่านมีโอกาสสูงที่จะถูกจับไปขาย หรือมีโอกาสสูงที่จะถูกจับละเมิดลิขสิทธิ์ เขาไม่ยอมให้ท่านใช้ของเขาฟรีๆไปตลอดแน่นอน

ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่า พนักงานในองค์กรไม่พอใจท่านอย่างไร? ท่านทําให้ใครไม่พอใจไว้หรือเปล่า? เขาร้อนเงินอยู่หรือเปล่า? เมื่อใดก็ตามที่มีการแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ไปยังองค์กรที่ตรวจจับโดยเฉพาะ ผู้แจ้งมีสิทธิ์ได้รับรางวัลสูงสุด 250,000 แต่องค์กรของท่านต้องเสียเงินเป็นจํานวนมาก ต้องว่ากันเป็นหลักล้านหลักสิบล้านเลยทีเดียว กรรมการองค์กรทุกท่านต้องถูกดําเนินคดี ฉะนั้น เตรียมทนายไว้ได้เลย

องค์กรที่เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เหตุผลหลักๆ ก็คือ ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้ายซอฟต์แวร์ และไม่ต้องการมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เฉพาะคอมพิวเตอร์พื้นฐานที่ทํางานด้านเอกสารอย่างเดียว ต้นทุนซอฟต์แวร์ต่อเครื่องยังแพงกว่าตัวเครื่องเสียอีก บางองค์กรมีคอมพิวเตอร์นับพัน ต้นทุนปาเข้าไปหลายสิบล้านบาท ยังไม่รวมถึงการปรับรุ่นในอนาคต ซึ่งท่านจะบอกว่า “เราจะไม่ปรับรุ่นซอฟต์แวร์ตามเขา แม้เขาจะออกรุ่นใหม่มาก็ตาม” อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าสักวันหนึ่ง อีก 5 ปี 7 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ท่านจะต้องปรับรุ่นตามเขาแน่นอน และจะต้องจ่ายอีกไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเขาตั้งใจให้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ฉะนั้นองค์กรต่างๆจึงหันมาใช้ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สเพื่อลดต้นทุน ประเด็นด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ต้องพูดถึง ยิ่งองค์กรใหญ่ ยิ่งไม่สามารถใช้ของเถื่อนได้ เขาเป็นปลาใหญ่แล้ว โดยเฉพาะองค์กรที่ขึ้นต้นด้วย บมจ. หรือลงท้ายด้วย มหาชน ยิ่งใช้ไม่ได้

ผลเสียจากการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ได้เกิดต่อผู้ที่ใช้หรือองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ผลเสียทางอ้อมแบบร้ายลึก มันเลวร้ายยิ่งกว่านั้นหลายเท่านัก

ตัวเลขอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกที่ผู้เขียนทราบมา มีประเด็นบางอย่างสะกิดใจให้ต้องคิด ประเทศอเมริกาซึ่งเราทราบกันดีว่า เป็นผู้นําด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์หมายเลข 1 ของโลก ที่นี่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ 20% ต่ำที่สุดในโลก ญี่ปุ่น 21% โซนยุโรปอยู่ที่ 25-50% ประเทศไทย 73% โซนแอฟริกาเกิน 75%

แปลก! ที่ตัวเลขเหล่านี้สัมพันธ์กับความเจริญของประเทศด้วย ประเทศใดที่ตัวเลขการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ำๆ เกือบจะฟันธงได้เลยว่า เป็นผู้นําด้านความคิดด้วย ฉะนั้นเขาจึงทำน้อยแต่ได้มาก หันไปทางไหนชาติอื่นก็ต้องหันตาม ตัวเลขบ่งบอกลําดับไล่ตามกันมาเลยทีเดียว ประเทศใดที่ตัวเลขการละเมิดลิขสิทธิ์สูงๆคล้ายกับว่า ต้องรอให้ประเทศอื่นคิดก่อน แล้วรอทําตาม ทำมากแต่ได้น้อย

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ รากมันฝังลึกมาก มองเผินๆเหมือนเราได้ประโยชน์ ได้ใช้ของฟรี ประหยัดเงิน แต่ถ้ามองในภาพรวม เราเสียเอกราชทางความคิดไปแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆท่าน ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่กับมันเลย(รวมทั้งผู้เขียนด้วย) ถูกปลูกนิสัย ถูกบ่มเพาะ ถูกสอนให้ใช้ของเถื่อนมาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว จนไม่มีจิตสํานึกว่าการใช้ของเถื่อนนั้นผิดอีกแล้ว นี่เป็นโครงสร้างที่ทําให้ประเทศไม่มีความคิดใหม่ๆ ต้องรอให้ต่างชาติคิดก่อนแล้วเราค่อยทําตาม “ใครจะไปคิด ในเมื่อมีคนคิดให้ มีคนทําให้ใช้ ฟรีๆ” หรือ “ใครจะไปคิด คิดไป ขายไปก็สู้ของเถื่อนไม่ได้”

หากหลักสูตรการศึกษาในประเทศไทย จะบรรจุการเรียนการสอนซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สไว้เคียงคู่กับซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ที่เล่าเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้บ้าง หลายอย่างคงจะดีขึ้นไม่น้อย ด้วยพื้นที่เพียงเท่านี้คงไม่อาจหาคําบรรยายสั้นๆ เพื่ออธิบายว่าอะไรจะดีขึ้นบ้าง เพราะมันเป็นลูกโซ่ที่เริ่มต้นมาจากความคิดและมีผลไปยังการกระทําอีกหลายต่อ

ทุกวันนี้ เมื่อผู้เขียนถามนักเรียนนักศึกษาว่า “ที่โรงเรียนที่วิทยาลัยสอนโปรแกรมอะไร?” คำตอบที่ได้ล้วนเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ทั้งสิ้น นักเรียนนักศึกษาก็ต้องไปขวยขวายหามาติดตั้งที่เครื่องส่วนตัว แน่นอนว่าไม่ได้ซื้อ รู้ๆกันอยู่ว่าสามารถหาได้จากที่ไหน ถ้าไม่หามาใช้จะทำการบ้านส่งอาจารย์ได้อย่างไร? ระบบการศึกษาในบ้านเรานี่แหละแหล่งเพาะพันธุ์ปลาอย่างดี ใครที่ไหนจะจับปลาในแหล่งเพาะพันธุ์ เพราะในอนาคตก็จะกลายเป็นปลาอ้วนๆ มีเนื้อให้บริโภคอย่างหนำใจ

การปลูกฝังเรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาในระบบการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ที่เริ่มกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในการทำงานในปัจจุบัน

หากเรายังไม่ปลูกฝังอย่างจริงจัง สิ่งที่เป็นไทยๆก็จะค่อยๆเลือนหายไป ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์กับสิ่งที่เป็นไทยๆ ดูเหมือนอยู่คนละฝาก ไม่เห็นจะเกี่ยวกัน ไม่รู้จะมาบรรจบกันได้อย่างไร แต่ลองตรองดูให้ดี

หากโครงสร้างของสังคมไทย เริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษา ไม่เปิดโอกาส ไม่ยอมให้ความคิดใหม่ๆได้เกิด เพราะถูกข่มขู่หรือถูกฆาตกรรมด้วยฆาตกรที่ชื่อว่า “ละเมิดลิขสิทธิ์” ความคิดใหม่ๆก็ไม่เกิด แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเปิดเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสื่อ ซึ่งต่อไปก็อีกหลายอย่างที่จะมาพร้อม AEC วัฒนธรรมและความคิดจากประเทศอื่นๆก็จะไหลเข้ามาทางช่องทางเหล่านั้น ใครๆก็ชอบสิ่งใหม่ๆ ชอบจินตนากรใหม่ๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นทำให้เราตื่นเต้น มีความสุข ทำให้โลกนี้ไม่น่าเบื่อ แต่ถ้าสิ่งใหม่ๆจากความคิดของคนไทยถูกฆาตกรรมไปหมด ก็คงต้องรอรับจากประเทศอื่นๆ ที่เขาทะนุบำรุงความคิดใหม่ๆเป็นอย่างดี และสิ่งเหล่านั้นจะค่อยๆปลูกฝังเข้ามาในระบบความคิดของเรา สอนเราให้คล้อยตาม วันแล้ววันเล่า สิ่งที่เป็นไทยๆ ก็⁠จะค่อยๆเลือนหายไป เราจะกลายเป็นแต่ผู้ซื้อ เป็นหนี้ ทำมากได้น้อย เป็นผู้ตามฝ่ายเดียว ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นอย่างแยบยล ถ้าเราสูญเสียเอกราชทางความคิด เพราะเราปล่อยให้ฆาตกรที่ชื่อว่า “ละเมิดลิขสิทธิ์” ลอยนวล

ผู้เขียนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หากเราเริ่มต้นที่ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ให้มองว่าซอฟต์แวร์เป็นสินค้าที่เราต้องเลือกใช้ เลือกซื้ออย่างไตร่ตรอง สิ่งนี้จะเป็นแรงเหนี่ยวนำไปยังลิขสิทธิ์ทางปัญญาในด้านอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น เพลง,ภาพยนตร์, สินค้าต่างๆ ซึ่งล้วนถูกฆาตกรรมไปมากด้วยฆาตกรที่ชื่อ “ละเมิดลิขสิทธิ์” เช่นเดียวกัน

ความยากจน การไม่มีเงิน ไม่ใช่ข้อแก้ตัว ไปต่อสู้ที่ศาลไหนก็แพ้ แต่ทางออกนั้นมีเสมอ สำหรับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้น ของฟรี ดีๆ ก็มีให้ใช้ เพียงแต่เรายอมเปลี่ยนแปลง เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ แล้วอิสระภาพจะเป็นของเรา

ประเทศของเรายังต้องการความคิดและจินตนาการอีกมากมายนัก หากเราเสียเอกราชทางความคิดไปแล้ว ประเทศจะพัฒนาไปได้อย่างไร โลกนี้จะน่าเบื่อเพียงใดหากมนุษย์ไม่ใช้จินตนาการ

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งใน การรณรงค์ส่งเสริมการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ผู้เขียนจึงเขียนคู่มือการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สบางตัวเพื่อแจก ฟรี(ฉบับ e-book) ท่านสามารถเข้าไปดาวน์โหลดที่ www.poeclub.org หากมีข้อติชมประการใดกรุณาส่งมาความคิดเห็นมาที่ wasankds@gmail.com

ผู้เขียน
วสันต์ คุณดิลกเศวต
ผู้เขียนและวิทยากรอบรมการใช้งาน LibreOffice, Inkscapeและ Gimp

Share this :

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.




*

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.